ประเมินราคากิจการ ประเมินราคาหุ้น หรือประเมินมูลค่าธุรกิจ (Business Valuation)
ประเมินมูลค่ากิจการ ประเมินราคาหุ้น ประเมินมูลค่าหุ้น และประเมินมูลค่าธุรกิจ มีความหมายใกล้เคียงกัน กิจการภายใต้การดำเนินธุรกิจขององค์กรหรือบริษัท มีมูลค่าของธุรกิจ มากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงาน ที่ผ่านมา หรือ ความแตกต่างในตัว Asset ที่องค์กรนั้นถืออยู่ ซึ่งก็มีมากน้อยไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่มีตัวตน และไม่มีตัวตน เป็นตัวชี้วัดในมูลค่าของกิจการ บางที ในบางองค์กรอาจมีทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนมีมูลค่าสูงกว่าอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมากก็ได้ ดังนั้นมูลค่ากิจการ จึงเทียบเคียงกันได้ยาก อย่างไรก็ตาม กิจการที่ดำเนินธุรกิจ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน อาจจะมีค่ามาตรฐานในการเทียบเคียงได้ในบางเรื่อง
การประเมินราคากิจการ จึงมีความนิยมในการใช้วิธีการประเมินราคาได้ 2 ทางหลักๆ อันได้แก่
อย่างแรกคือการปรับโครงสร้างต้นทุนทางบัญชี จะพิจารณาจาก ทรัพย์สิน ที่องค์กรนั้นถืออยู่ ซึ่งก็ได้แก่ทรัพย์สินที่มีตัวตนและทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน ทางด้านทรัพย์สินมีตัวตนก็ได้แก่อสังหาริมทรัพย์ที่ดินอาคารเครื่องจักรอุปกรณ์ สินค้าคงคลังเป็นต้น รวมทั้งการปรับค่าสถานะเงินสด ในส่วนของ ทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน อาทิเช่นตรายี่ห้อสินค้า สัมปทาน สิทธิบัตร License Software สิทธิเรียกร้องต่างๆ ค่าความนิยมหรือ Goodwill เป็นต้น เมื่อได้ทรัพย์สิน ตามรายการครบถ้วนแล้วก็จะประเมินราคาตามสภาพปัจจุบัน เมื่อรวม สถานะของทรัพย์สิน ที่มีตัวตนและไม่มีตัวตนนำมารวมกันบวกกับค่าสถานะเงินสดปัจจุบัน ก็จะเป็นมูลค่ากิจการ ที่อ้างอิงได้
ลำดับต่อมาคือการประเมินโดยวิธีรายได้ ของกิจการ โดยการอ้างอิงถึง ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกิจการย้อนหลังไป วิเคราะห์ร่วมกับ ธุรกิจคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ปรับแก้ปัจจัยบางตัวที่สำคัญ ให้เหมาะสมกับการดำเนินงาน และสถานะส่วนแบ่งทางตลาด วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนในการดำเนินธุรกิจ ก็จะสามารถ โปรเจคชั่น Cash Flow ที่จะเป็นผลดำเนินงานต่อไปในอนาคต ก็จะสามารถหามูลค่าปัจจุบันของมูลค่ากิจการโดยวิธีรายได้ ออกมาเปรียบเทียบกับวิธีต้นทุน ได้อย่างมีเหตุผล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้จากการสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจ พร้อมทั้งเอกสารอ้างอิงที่จะขอเพิ่มเติมเป็นบางรายการ
การสอบทานมูลค่ากิจการที่ประเมิน ก็อาจใช้ ตัวชี้วัด ผลการดำเนินงานของธุรกิจคู่แข่ง ในตลาด และอุตสาหกรรม เดียวกัน หรือเทียบเคียงจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ในค่า P/E P/B เป็นต้น มาเป็นตัวสอบทานมูลค่าได้
ดังนั้นการประเมินมูลค่ากิจการจึงทำได้ทั้งกรณีก่อนที่จะทำการเข้าซื้อและหลังจากการเข้าซื้อไปแล้ว ประโยชน์ของการประเมินราคาก่อนการเข้าซื้อ ก็จะได้ในเรื่องของการให้นักประเมินช่วยทำ Due Diligence ในกิจกรรมที่มีผลต่อราคาประเมินของกิจการที่จะออกมาให้มีความรัดกุม ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารเข้าซื้อกิจการโรงงานแห่งหนึ่งที่กำลังใกล้จะปิดตัว ราคาซื้อรวมมากกว่า มูลค่าทรัพย์สินที่เป็นที่ดินโรงงานและเครื่องจักร ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่า ในส่วนเกินนั้นจะเป็น ระบบสายพานการผลิต แรงงานผู้ชำนาญการ ซอฟท์แวร์โปรแกรม สิทธิเรียกร้องต่างๆที่อาจมี ซึ่งต้องมารีวิวทบทวนดูตามเอกสารหลักฐานที่มี ว่าจะประเมินมูลค่าได้หรือไม่ อย่างเช่น Skill Labor หรือ Key man ที่ได้ทำเป็นเอกสารสัญญาจ้างผูกพันต่อเนื่องไปอีกระยะเวลาหนึ่ง หลังจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นเป็นต้น